ประวัติความเป็นมา
ประเพณีบุญข้าวหลามเป็นประเพณีที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะจัดขึ้นหลังจากฤดูทำนา เมื่อมีการเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย เมื่อถึงวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 คนในครอบครัว ญาติ พี่น้อง จะช่วยกันเผา ข้าวหลาม ซึ่งแต่ละหลังต่างคนต่างทำ เมื่อเผาข้าวหลามเสร็จในช่วงเย็นจะแบ่งบางส่วนไว้ไปทำบุญในช่วงเช้า เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนพระคุณแม่โพสพ แม่ธรณี การเผาข้าวหลาม ชาวบ้านจะต้องขุดดินบนลานโล่งเป็นรางตื้นๆ ตั้งกระบอกข้าวหลาม แล้วก่อกองไฟขนานไปกับกระบอกข้าวหลาม ภายหลังเผาข้าวหลามเสร็จก็จะแบ่งกันไปและนำไปทำบุญที่วัดใกล้ๆ ภายในชุมชนของตนเอง ถือเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีบุญข้าวหลามให้ลูกหลานได้สืบสานต่อไป สิ่งที่แฝงมากับประเพณีบุญข้าวหลามนอกจากการชักจูงให้ผู้คนเข้าวัดทำบุญทำกุศลกันแล้ว ยังเป็นโอกาสพิเศษที่คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง สมาชิกในครอบครัวที่แยกย้ายกันไปได้กลับมาพบหน้ากันอีกด้วย โดยจะมีการทำบุญข้าวหลามในช่วงเช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะทำในสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของชาวบ้านในสมัยนั้น ซึ่งชาวบ้านพยูน ม.4 จะนำข้าวหลามไปทำบุญ ณ ศาลหลวงเตี่ย บริเวณชายหาดพยูน ชาวบ้านจะช่วยกันทำเรือจำลอง (เรือเล็ก) แล้วให้นำข้าวหลาม ข้าวปลา อาหาร รวมถึงสิ่งของต่างๆ ใส่ลงไปในเรือเล็ก เพื่อให้พระสงฆ์สวดมนต์ทำพิธี หลังจากสวดมนต์เสร็จ ก็จะนำเรือเล็กไปลอยทะเล มีการจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต